มอบนโยบาย 5 ด้าน ให้ ก.ล.ต.พัฒนาตลาดทุน ชี้ไทยฟื้นตัวเร็วสูงสุดในอาเซียน มูลค่า 8.8 หมื่นล./วัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อนโยบายการพัฒนาตลาดทุนไทยกลไกการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด ในงานสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2565 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่านโยบายสำหรับการพัฒนาตลาดทุนไทยในระยะ 5 ปีนั้น ให้ผนวกแผนฟินเทคเข้าไปในแผนพัฒนาตลาดทุนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการนำหลักคิดและกลไกบล็อกเชนมาปูพื้นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตลาดทุนไทย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบและติดตามได้ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงบริการใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงแหล่งทุน

นายอาคม กล่าวว่า พร้อมทั้งได้มอบแนวทาง 5 ด้านให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันแผนพัฒนาตลาดทุนไทยในช่วงปี 2565-2569 ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนผ่านกลไกตลาดทุน สำหรับผู้ระดมทุน โดยเฉพาะภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทย 2.การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย ผ่านการยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมของตลาดทุนไทยในเวทีโลกและภูมิภาค รวมไปถึงการออกผลิตภัณฑ์ด้านการเงินการลงทุนที่น่าสนใจ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ลงทุน

3.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับตลาดทุน โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัล เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิผลและโปร่งใสมากขึ้น 4.การพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืน โดยตลาดทุนไทย จะเป็นกลไกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (อีเอสจี) มาผนวกกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นรากฐานการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง และ 5.การสนับสนุนสุขภาพทางการเงินที่ดีของประชาชน ในระยะยาว โดยเฉพาะในวัยเกษียณและมีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน

นายอาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ในปี 2564 ขนาดของตลาดทุนคิดเป็น 1.2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) และตลาดตราสารหนี้รวมของภาครัฐและเอกชนคิดเป็น 0.9 เท่าของจีดีพี ขณะเดียวกันผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยก็มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีความหลากหลาย โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในตลาดทุน จะเห็นได้ว่าการเติบโตตลาดทุนไทยภายใต้วิกฤตนี้ ผนวกกับความท้าทายหลายด้าน ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของตลาดทุนไทยถึงภาคการเงินและเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในระยะหลังที่ผ่านมาตลาดทุนไทยยังสามารถดึงดูดเงินต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนสภาวะตลาดทุนไทยนั้น จากปี 2563-2564 ตลาดหุ้นไทยเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลายระลอก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยดัชนีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาถึง 50% ในปี 2564 จากจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปี เมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยระดับดัชนีดังกล่าวยังสูงกว่าดัชนีหุ้นในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 และสูงกว่าดัชนีตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค

นายอาคม กล่าวว่า ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน ตลาดหุ้นไทยยังคงมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ของอาเซียน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 โดยในปี 2564 มูลค่าอยู่ที่กว่า 8.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เทียบกับปี 2563 ซึ่งผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของตราสารหนี้ ภาคเอกชนมีการออกและเสนอขายตราสารหนี้ระยะยาวมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2563 และ ตราสารหนี้ระยะสั้นมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ ยังสามารถระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้อย่างต่อเนื่องด้วย

“สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐ กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ ขายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังเพื่อช่วยส่งเสริมการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง สิ้นปี 2564 มีมูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนยังได้เสนอออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน สิ้นปี 2564 มีมูลค่าราว 1.7 แสนล้านบาท ด้านเงินลงทุนตลาดตราสารหนี้ไทยพบว่าเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิจากต่างชาติกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยสิ้นปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรไทยเป็นประวัติการณ์ที่ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.8%ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย”

นายอาคม กล่าวว่า อีกด้านคือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมทั่วโลก 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพบว่ามีผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศไทยเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนบัญชี และยังเป็นกลุ่มหลักในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น อีกทั้งยังมีพัฒนาการและการเติบโตที่รวดเร็ว ทั้งด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายการกำกับดูแล

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy