ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565
ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/3) ที่ระดับ 33.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/3) ที่ระดับ 33.51/52 บาท โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุน หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดเงินเฟ้อ นายพาวเวลล์กล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐเมื่อคืนวานนี้ตามเวลาไทยว่า “ตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงเกินไป
ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง เราก็จะทำ และหากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบคุมเข้มมากกว่าที่เคยดำเนินการมา เราก็จะทำเช่นกัน” นายพาวเวลล์ระบุว่า สถานการณ์ด้านเงินเฟ้อย่ำแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ก่อนที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะปะทุขึ้นก็ตาม พร้อมกับเตือนว่า ผลกระบของสงครามและการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ นายพาวเวลล์กล่าวว่า ผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นทั่วโลก รวมทั้งสงครามและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในต่างประเทศและจะยิ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานตกอยู่ในภาวะชะงักงันมากขึ้นอีก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะลุกลามบานปลายมาถึงเศรษฐกิจสหรัฐด้วย นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ประเทศในเอเชียอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อกระจายไปทั่วโลก หากราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้นในทิศางเดียวกับราคาพลังงาน
ซึ่งจะทำให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นและฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้้น ต้นทุนของผู้ผลิตก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดก็เลี่ยงไม่ได้ที่ราคาสินค้าจะปรับขึ้นตามมา เมื่อถึงขั้นนั้น สถานการณ์เงินเฟ้อในเอเชียจะกระจายไปทั่วโลก แต่ตอนนี้มันยังไม่เกิดขึ้น”
นายชางยอง รี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ IMF ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก การแสดงความเห็นของนายรี บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ว่า เอเชียมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดวงจรราคาสินค้าที่ปรับขึ้นไปทั่วโลก หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.47-33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (22/3) ที่ระดับ 1.0989/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/3) ที่ระดับ 1.1059/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน และรัสเซียที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0960-1.1026 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1009/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/3) ที่ระดับ 119.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/3) ที่ระดับ 119.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเนเยนยังคงปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องจากความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยบีโอเจยังคงส่งสัญญาณไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้ แม้ระดับเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 119.43-120.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 120.45/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สัปดาห์นี้ นักลงทุนติดตามยอดขายบ้านใหม่สหรัฐ เดือน ก.พ. (23/3), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือน ก.พ. (24/3)
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance