เฟ้นหุ้น EV กลับมาบูม หลังมาตรการหนุน-ราคาขายลด

อุตสาหกรรม News S curve อย่างยานยนต์ไฟฟ้า สร้างสีสันให้ตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง หลังลุ้นมาตรการภาครัฐในกระตุ้นการซื้อจากลดฐานภาษี จนไปถึงการเปิดตัวรถรุ่นต่างๆของค่ายรถยนต์ ซึ่งหลายค่ายมาเปิดตัวคึกคักงานมอเตอร์โชว์ 2022 ระหว่าง 23 มี.ค. -3 เม.ย. นี้

ก่อนหน้านี้ความชัดเจนมาตรการสนับสนุนภาครัฐทำให้บรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆกล้าที่จะเข็นรุ่นเรือธงในชาวงแรกของ EV มาประชัดกัน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินในกระเป๋าของลูกค้า ที่กลายเป็นช่วงจังหวะดีหลังราคาน้ำมันดิบทะยานเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และยังมีความผันผวนสูงขึ้นอยู่กับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนจะคลี่คลายได้แค่ไหน

โดยส่งผลกระทบต่อไทยในฐานผู้นำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซเชื้อเพลิงต่างๆ จนทำให้ราคาน้ำมันเบนซินในตลาดแตะ 50 ต่อลิตร เรียกว่าเติมน้ำมันครั้งหนึ่งเต็มถังต้องใช้เงิน 1,500-2,000 บาทต่อครั้ง ส่วนน้ำมันดีเซลราคาเหมาะสมอยู่ที่ 48 บาทต่อลิตรหากรัฐบาลไม่มีมาตรการดึงราคาน้ำมันเอาไว้ที่เกิน 30 บาทต่อลิตร ผ่านกองทุนเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนและลดภาษีสรรพสามิตรลงมาแล้ว 3 บาท จากโครงสร้างอยู่ที่ 5 บาท

ดังนั้นเมื่อชั่งใจทางเลือกในอนาคต “EV” สามารถตอบโจทย์วิกฤติพลังงานและลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงลงไปได้ทันที 10 เท่าตัว บวกกับราคาที่บรรดาค่ายรถยนต์เคาะราคาขายล่าสุดมีส่วนลดตามมาตรการภาครัฐอยู่ที่ระหว่าง 70,000 -150,000 ต่อคัน ทำให้ราคาขายที่เปิดตัวก่อนหน้านี้เกิน 1 ล้านบาท จะลดลงมาประมาณ 8 แสนกว่าบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละค่ายจะทำการตลาดท็อปอัพให้ลูกค้าเพิ่มเพื่อตัดสินใจซื้อ EV ได้แค่ไหน

รอบนี้ค่ายรถยนต์จากฝั่งจีน –ยุโรป ขนรถ EV มาอย่างคึกคัก ทั้ง “เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง” เจ้าของ รถยนต์สุดคิว “โอร่า กู๊ดแคท” บีเอ็มดับเบิลยู วอลโว่ หรือ อาวดี้ เป็นต้น ส่วนค่ายญี่ปุ่นยังไม่คึกคักเท่าที่ควร

 

อย่างไรก็ตามเทรนด์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับ EV ต่างสนใจจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

รายใหญ่สุดในตลาดแบบไร้คู่แข่งเพราะตั้งโรงงานแบตเตอร์รี่พร้อมผลิตขายแล้ว หุ้น EA ดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เฟสแรกแล้ว 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh) ยังพ่วงบริษัทลูก NEX ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ากลุ่มเชิงพาณิชย์มีอยู่ในมือ 1.3 ล้านคัน ผ่านการลงทุนรวมกับ “สมาร์ทบัส” มีสัปทานเดินรถเมล์ร่วมสาธารณะซึ่งล่าสุด EA เข้าไปถือหุ้นแล้ว 99 %

นอกจากนี้มี BYD ดำเนินธุรกิจการเงินเป็นตัวกลางในการวางแผนจัดซื้อรถบัสไฟฟ้า ดูแลระบบเทคโนโลยี ที่ติดตั้งในระบบ EV และโฆษณาที่จะปล่อยให้เช่ามีบริษัทย่อย “สมายล์บัส” มีการเดินรถโดยสารไฟฟ้ากทม.ในมือ 10 เส้นทาง

อีกรายหนีไม่พ้น GPSC ที่ทุนใหญ่บริษัทแม่ PTT ปูทางไว้แล้วด้วยการให้เป็นเรือธงไปร่วมลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่1,100 ล้านบาทกับทางประเทศจีน ส่วน PTT ตั้ง “ อรุณ พลัส “ เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร จับมือยักษ์ใหญ่ “ฟ็อกซ์คอนน์” ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเฟสแรกปี 2567 จำนวน 50,000 คัน/ปี และจะขยายไปถึง 150,000 คัน/ปีภายในปี 2573

ด้านโครงสร้างพื้นฐานหนีไม่พ้นหุ้นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนนี้รายใหญ่เปิดพื้นที่เฉพาะให้ทุนจากจีน –ญี่ปุ่นและยุโรป เข้ามาลงทุนในไทย ประกอบไปด้วย AMATA, PIN, ROJNA, WHA, WHAUP เป็นต้น ด้านสถานีชาร์ทไฟมีตัวหลัก EA และ OR และยังมีธุรกิจที่เข้ามาผลิตส่วนประกอบ เช่น DELTA, EA, FORTH ,QTC,UAC, JR, GUNKUL ร่วมทุนกับ JMART

หากมีการตั้งโรงงานเพื่อผลิต EV ในไทยทำให้กลุ่มที่เป็นซัพพรายเช่นผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยอยู่แล้วได้ประโยชน์ไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันหลายบริษัทเพิ่มไลน์การผลิตเพื่อส่งออกเฉพาะในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนประกอบรถ EV เรียกได้ว่าครบทุกชิ้นส่วนตั้งแต่มอเตอร์ไปถึง เบาะหนัง สีรถ เปลือกแบตเตอรี่ ไฟส่อง ระบบคอยล์ ฯลฯ

รวมไปถึงธุรกิจสินเชื่อและประกันยานยนต์ไฟฟ้า ต่างเตรียมรูปแบบการให้ผ่อนชำระพร้อมประกันยานยนต์ไฟฟ้ารองรับไว้แล้ว เรียกได้ว่า บจ.ไทยพร้อมเดินหน้ารองรับดีมาร์ทแทบทันที