สงครามรัสเซีย-ยูเครน กดบาทอ่อนค่าสุดรอบ 2 เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ความตึงเครียด สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนค่าเงินบาท อ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน จากเงินไหลออกตลาดพันธบัตร 2.5 หมื่นล้านบาท

สถานการณ์ค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า มีทิศทางอ่อนค่าลง แตะระดับอ่อนค่าสุดรอบกว่า 2 เดือน ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลง สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีสัญญาณตึงเครียดมากขึ้น ขณะที่สหรัฐและกลุ่มนาโตจะตอบโต้รัสเซีย หากรัสเซียมีการโจมตียูเครนด้วยอาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพ

 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังมีแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์ หลังมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งน่าจะมาจากผู้ส่งออก

ทั้งนี้ในวันศุกร์ (25 มี.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.72 เทียบกับระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 มี.ค.) โดยระหว่างวันที่ 21-25 มี.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยรวม 5,020 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflow หรือเงินไหลออกสุทธิในตลาดพันธบัตร 2.50 หมื่นล้านบาท (ขายสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1.26 หมื่นล้านบาท)

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 มี.ค.-1 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทย มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ 33.30-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน ก.พ. ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
สถานการณ์สงคามรัสเซีย-ยูเครน
ทิศทางเงินทุนต่างชาติและแรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปิดไตรมาส
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องติดตามคือ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร
อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน
ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตเดือน มี.ค.
รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล
ดัชนีราคา PCE Price Index เดือน ก.พ.
ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/2564

นอกจากนั้น ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน มี.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market